เครื่องขวางที่ทำให้จิตไม่รวมเป็นสมาธินั้นได้แก่อุปกิเลส 11 อย่างประกอบด้วยวิจิกิจฉา, อมนสิการ, ถีนมิทธะ, ความสะดุ้งหวาดเสียว, ความตื่นเต้นที่มากเกินไป, ความคะนองอยาก, ปรารภความเพียรจัด, ปรารภความเพียรย่อหย่อนเกินไป, ความกระสันอยาก, การส่งใจไปในสิ่งต่างๆ มากไป, การเพ่งต่อรูปทั้งหลายมากเกินไป ซึ่งทั้งหมดนี้เมื่อเกิดขึ้นจะมีผลต่อการทำสมาธิ ครั้นพระพุทธเจ้าได้ทรงกำจัดอุปกิเลสทั้ง 11 ได้แล้วก็ทรงเกิดอาสวักขยญาณทำวิมุติให้แจ้งได้ โดยเนื้อหารายละเอียดอยู่ในพระสูตรที่ชื่อว่า "อุปักกิเลสสูตร"
การทำสมาธิที่ปราศจากอุปกิเลสนั้นจัดเป็นสัมมาสมาธิซึ่งใน"ปัญจังคิกสูตร" ได้อธิบายถึงการเจริญสัมมาสมาธิอันเป็นอริยะที่ประกอบด้วยองค์ 5 ประการ โดยพระพุทธเจ้าได้แสดงธรรมพร้อมกับยกอุปมาขึ้นมาอธิบายแก่เหล่าภิกษุและพระพุทธเจ้าได้รับรองว่า เมื่อเจริญสัมมาสมาธิอันยิ่งแล้วจะทำให้ถึงพร้อมด้วยปัญญาอันยิ่งในธรรมนั้น ๆ ได้
นอกจากนี้การสนทนาธรรมกับกัลยาณมิตร หรือภิกษุ - ภิกษณีก็สามารถทำให้เกิดปีติขึ้นได้ เพราะเมื่อมีปีติจิตย่อมรวมเป็นสมาธิได้โดยง่าย และ ทำให้เกิดปัญญาแตกฉานในธรรมะยิ่งขึ้น ดังตัวอย่างใน "จูฬเวทัลลสูตร"ที่อุบาสกวิสาขได้ถามปัญหากับภิกษุณีธรรมทินนา…จนเกิดความแจ่มแจ้งในธรรมว่าด้วยเรื่องอุปทานขันธ์ทั้ง 5 และอริยมรรคมีองค์ 8 ฯ

Time index
[04:08] อุปกิเลส 11 อย่างที่ขัดขวางการทำสมาธิ
[22:36] ว่าด้วยลักษณะ และ อุปมาของสัมมาสมาธิ
[35:02] จูฬเวทัลลสูตร
อ่าน "อุปักกิเลสสูตร" พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๔ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๖
อ่าน "ปัญจังคิกสูตร" พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๒ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๔
อ่าน "จูฬเวทัลลสูตร" พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๒ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๔