ตัณหาเป็นเหตุแห่งทุกข์ มีลักษณะคือต้องเป็นไปเพื่อการเกิดใหม่ (สภาวะ) กำหนัด และยินดีคล้อยตามไปตามอารมณ์ ซึ่งจำแนกออกเป็น 3 ประเภทได้แก่ กามตัณหา ภวตัณหา และวิภวตัณหา
ทั้งตัณหาและอวิชชาจะทำงานควบคู่กันและเป็นเหตุทำให้เกิดกิเลสต่อไป โดยตัณหาเป็นเครื่องรึงรัดไว้ เปรียบเสมือนช่างเชื่อม และอวิชชาจะเป็นเครื่องปกปิดรอยต่อที่เกิดจากการเชื่อมนั้น ๆ ในคำสอนของพระพุทธเจ้ากล่าวว่า ตัณหาต้องละ แต่มรรคต้องเพียร ซึ่งการมีความเพียร ทำให้มาก เจริญให้มาก ในศีล สมาธิ ปัญญา และอริยมรรคมีองค์แปด จะทำให้ตัณหาค่อย ๆ ลดลง จนสามารถละได้
อริยมรรคมีองค์แปด เป็นทางสายเดียวที่มีองค์ประกอบ 8 อย่าง อันได้แก่ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ และสัมมาสมาธิ เป็นทางที่มีศีล สมาธิ และปัญญา เป็นทางสายกลาง (มัชฌิมาปฏิปทา) หมายถึง ทางเลือกอีกทางหนึ่ง เป็นทางลัด เป็นทางตัดตรงและนำไปสู่พระนิพพาน

Time index
[01:18] แนะนำรูปแบบรายการใหม่ในแต่ละวันตลอดทั้งสัปดาห์เพื่อการนำหลักธรรมะไปประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวัน รวมถึงช่องทางเพิ่มเติมในการรับฟังธรรมะทาง website ที่ www.donhaisok.co และทางโทรศัพท์มือถือ โดยการใช้ Podcast Application (มีทั้ง Apple Podcast สำหรับ IOS และ Google Podcast สำหรับ Android) โดยค้นหาจากคำว่า “ดอนหายโศก” ได้เช่นกัน
[05:17] ตามหลักศาสนาพุทธ ตัณหาสามารถนำพาให้ไปเกิดในสุคติภพได้หรือไม่ ถ้าได้คือตัณหาประเภทใด และอวิชชากับตัณหาเหมือนกันหรือต่างกันอย่างไร
[07:24] ทั้งตัณหาและอวิชชาจะเป็นเหตุทำให้เกิดกิเลสต่อไป ดังนั้นหากมีกิเลสมากจะทำให้ไปเกิดในทุคติภูมิได้ ในทางตรงกันข้ามกันหากมีกิเลสน้อยจะทำให้ไปเกิดในสุคติภูมิแทน
[13:08] สัมมาทิฏฐิแบ่งเป็น 2 ประเภทคือ แบบที่เกี่ยวเนื่องด้วยโลก (โลกียะ) ของหนักและอาสวะ (อันได้แก่ ทานที่ให้แล้วมีผลจริง, ยัญที่ทำแล้วมีผลจริง, การเซ่นสรวงหรือการบูชามีผลจริง, วิบากแห่งกรรมดีกรรมชั่วมีผลจริง, โลกนี้มีจริง, โลกหน้ามีจริง, มารดามีคุณจริง, บิดามีคุณจริง, สัตว์ที่ผุดเกิดขึ้นมีจริง, และพระอรหันต์ผู้สามารถรู้แจ้งโลกนี้โลกหน้ามีอยู่จริง) กับแบบที่เหนือโลก (โลกุตระ)
[14:50] ต้องเจริญตัณหาเพื่อละตัณหา
[18:02] ตัณหาเป็นเครื่องรึงรัดไว้ เป็นช่างเชื่อม และอวิชชาจะเป็นเครื่องปกปิดรอยต่อที่เกิดจากการเชื่อมนั้นๆ เพื่อทำให้เรามองไม่เห็นรอยเชื่อมต่อเหล่านั้น
[20:48] "ปฏิจจสมุปบาท" และ "อริยสัจสี่" เหมือนกันหรือต่างกันอย่างไร หากเหมือนกัน ทำไมพระองค์ต้องแสดงสองแบบให้ซ้ำซ้อนกัน
[25:49] ปฏิจจสมุปบาทแปลว่า สิ่งที่อาศัยกันและกันเกิดขึ้น ส่วนอริยสัจสี่แปลว่า ความจริงอันประเสริฐ
[31:31] มรรคมีองค์แปดคือ ข้อปฏิบัติแบบทางสายกลาง คำว่า "ทางสายกลาง" ในที่นี้จะอธิบายทีละองค์ว่าเป็นทางสายกลางได้อย่างไร
[34:28] ทางสายกลางหรือมัชฌิมาปฏิปทา หมายถึง ทางเลือกอีกทางหนึ่ง เป็นทางลัด เป็นทางตัดตรงไปสู่พระนิพพาน ไม่ต้องเสียเวลาไปวน ไปอ้อม หรือไปพบทางตัน ทางสุดโต่งทั้งสองด้าน
[37:41] ทางสายเดียวที่มีองค์ประกอบ 8 อย่าง เมื่อต้องการอธิบายองค์ใดองค์หนึ่งในมรรคเป็นประเด็นหัวข้อ ให้ยกองค์ที่เหลือมาประกอบการอธิบายด้วยเพื่อความครบถ้วนสมบูรณ์ของการประกอบรวมกันเป็นทางสายกลาง
[40:35] ในพระสูตรพระไตรปิฎกเล่มที่16 พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ 8 สังยุตตนิกาย นิทานวรรค มีการอธิบายต่อจากอวิชชาไล่ไปจนครบอาการ 12 สุดที่ทุกข์ว่าปฏิจจสมุปบาทยังไม่จบแค่นั้น แต่ยังเป็นปัจจัยให้เกิดศรัทธา--ปราโมทย์--ปิติ--ปัสสัทธิ--สุข--สมาธิ--ยถาภูตญาณทัสสนะ--นิพพิทา--วิราคะ--วิมุตติ--ขยาญาณ ทุกข์ทำให้เกิดศรัทธาอย่างไร แบบไหน ศรัทธาทำให้เกิดปราโมทย์และปราโมทย์ทำให้เกิดปิติได้อย่างไร
[43:23] ทุกข์เป็นที่ตั้งอาศัยแห่งศรัทธา ทำให้เกิดผลที่ต่างกัน แสวงที่พึ่งภายนอก(สรณะ) ที่ต่างกัน ซึ่งสามารถแยกบุคคลออกเป็นคนโง่หรือคนประเสริฐ
[50:44] หากเรามีความมั่นใจศรัทธาในพุทโธ ธัมโม สังโฆ แล้วทำจริง แน่วแน่จริงในการเจริญสติ ระลึกถึงคำสอนของพระพุทธเจ้า ทำให้จิตมีความยินดี พอใจ ด้วยความเพียรที่ตั้งเอาไว้ จนทำให้กุศลธรรมเพิ่มขึ้นในขณะที่อกุศลธรรมลดลง จนถึงจุด ๆ หนึ่งจนทำให้ความสบายใจ อิ่มเอิบใจ หรือความปราโมทย์ ปิติเกิดขึ้น และทำให้เกิดความสงบระงับหรือปัสสัทธิขึ้นภายในใจ จากนั้นจิตจะรวมลงเป็นอารมณ์อันเดียวหรือสมาธิ ทำให้เห็นตามความเป็นจริง เกิดความหน่าย คลายกำหนัด เป็นความพ้น ความแยกจากกัน เป็นวิมุตติ สามารถบรรลุธรรมและเข้าสู่พระนิพพานได้ในที่สุด
ฟัง "มหาจัตตารีสกสูตร และ สัมมาทิฏฐิสูตร" ออกอากาศทาง FM92.5 เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562